Ethical AI: ปัญญาประดิษฐ์ที่มีจริยธรรม

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีส่วนในการยกระดับการทำงานให้มีความง่ายดายและสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่ได้ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก ศิลปินที่ได้นำ AI มาใช้ในการออกแบบโครงร่างงานศิลป์ หรือนักเรียนนักศึกษาที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการเข้าถึงองค์ความรู้เชิงลึก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ มากมายอันจะช่วยให้ชีวิตของเราก้าวล้ำไปอีกขั้น

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับนวัตกรรมอื่น การพัฒนาและการใช้งาน AI ยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุง ดังจะเห็นได้จากข่าวที่บริษัทผู้พัฒนา AI ถูกฟ้องร้องจากการนำเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของไปทำการฝึกฝน AI ของตน การที่ AI ประมวลข้อมูลและรายงานผลคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ตลอดจนการนำ AI ไปใช้ในการสร้างข่าวลวง ภาพและวิดีโอด้วยเทคนิค deep fake เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาและการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม หรือ Ethical AI จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งหากเราต้องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ขัดกับกฎหมายและขนบประเพณี

ความหมายของ Ethical AI

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

Ethical AI หมายถึงการพัฒนาและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่ดำเนินไปอย่างมีความรับผิดชอบ ยุติธรรม โปร่งใส เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง การป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI ตลอดจนการรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล Ethical AI จึงให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่ AI จะมีต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และสังคม สนับสนุนให้เกิดการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบเพื่อป้องกันปัญหาและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

การพัฒนา Ethical AI อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีการคำนึงความเสี่ยงสี่ประการ ประกอบด้วย การเอนเอียงของข้อมูล (Bias) อันเป็นความเสี่ยงที่ AI อาจกีดกันหรือแบ่งแยกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอย่างไม่ยุติธรรมเพียงเพราะข้อมูลที่ป้อนให้ AI เรียนรู้ไม่มีความหลากหลายเพียงพอ ความเสี่ยงประการที่สองคือความสามารถในการอธิบาย (Explainability) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานและผู้พัฒนาระบบไม่อาจทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังการทำงานของ AI จึงอาจทำให้เกิดความสับสนและก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจได้ ความเสี่ยงประการที่สามคือ ความทนทาน (Robustness) โดยเป็นความเสี่ยงที่อัลกอริธึมอาจทำงานล้มเหลวภายใต้สถานการณ์คับขันหรือเมื่อถูกโจมตี และความเสี่ยงประการสุดท้ายคือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ระบบล้มเหลวในการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

จากความเสี่ยงทั้งสี่ประการดังกล่าว จึงได้มีการนำเสนอแนวทางบริหารความเสี่ยงและแนวทางที่จะทำให้ AI ทำงานภายใต้กรอบกฎหมายและจริยธรรมมากขึ้น แนวทางแรกคือ หลักการ (Principles) ซึ่งหมายถึง แนวทางและคุณค่าที่ผู้พัฒนา AI สามารถนำมาใช้ประกอบการออกแบบ การพัฒนา และการนำไปใช้งาน เพื่อให้ AI ทำงานอย่างถูกต้องและไม่เบี่ยงเบนไปจากจริยธรรมที่กำหนด แนวทางที่สองคือ กระบวนการ (Processes) โดยเป็นการนำหลักการอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไปใช้ในการออกแบบระบบ AI เพื่อบริหารความเสี่ยงทั้งในเชิงเทคนิค (เช่น ความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการออกแบบและพัฒนา AI) และที่ไม่ใช่เชิงเทคนิค (เช่น วิธีการตัดสินใจ และการฝึกฝน AI) และแนวทางที่สามคือ การตระหนักรู้ในจริยธรรม (Ethical Consciousness) ทั้งในขั้นตอนของการออกแบบ การพัฒนา และการนำ AI ไปใช้ประโยชน์

ทำไม Ethical AI ถึงสำคัญ

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

AI คือเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาโดยมนุษย์เพื่อคัดลอก เสริมสร้าง หรือทดแทนมันสมองของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจึงต้องใช้ข้อมูลปริมาณมากมายมหาศาลในการฝึกฝนให้สามารถทำงานได้คล้ายกันกับมันสมองของคนเรา ดังนั้น AI ที่ใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือมีความเอนเอียงจึงมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบที่อันตราย ส่วนการพัฒนา AI ที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้เรามีความเข้าใจอย่างจำกัดจำเขี่ยถึงวิธีการทำงานของมัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเมื่อเรามีแนวโน้มที่จะใช้ AI เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจมากขึ้น

ความยุติธรรมและความเท่าเทียม คือประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงของการพัฒนา Ethical AI ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ป้องกันความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติ เนื่องจาก AI ที่พัฒนาโดยไม่คำนึงถึงประเด็นดังกล่าวอาจนำไปสู่ความลำเอียงในการตัดสินใจ ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ หรือชนชั้นทางสังคม หาก AI ได้รับการพัฒนาโดยคำนึงถึงความยุติธรรมและความเท่าเทียมตั้งแต่ต้นก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ เพราะว่าหากสาธารณชนมีความเชื่อมั่นว่า AI ทำงานอย่างยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ก็มีแนวโน้มที่สังคมจะเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในเทคโนโลยีนี้มากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา AI ด้วยแนวทางดังกล่าวยังสามารถสร้างนวัตกรรมและการเข้าถึงที่กว้างขวาง อันเกิดจากความมั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลาย รวมไปถึงการขยายการเข้าถึงไปยังกลุ่มคนที่ถูกสังคมละเลยหรือมีความต้องการพิเศษ

นอกจากนี้ ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญของการพัฒนา Ethical AI เนื่องจากการคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ AI ในวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและช่วยป้องกันการนำ AI ไปใช้ในการละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของบุคคล ที่สำคัญคือการแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบจะช่วยให้สาธารณชนและผู้บริโภคมีความเข้าใจในการทำงานของ AI และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลให้ผู้คนสามารถทำความเข้าใจและตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมเมื่อต้องใช้งาน AI ในชีวิตประจำวัน

แนวทางการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรม

จะเห็นได้ว่าการพัฒนา Ethical AI หรือ AI ที่มีจริยธรรมมีความสำคัญหลายประการ เช่นนั้นแล้ว การพัฒนา Ethical AI จึงเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นความสำคัญในการสร้างและใช้ปัญญาประดิษฐ์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่เอาใจใส่หรือไม่เป็นธรรมต่อสังคม โดยสามารถกำหนดขั้นตอนการดำเนินการอย่างกว้างได้เป็นสามขั้นตอนใหญ่ ดังนี้

การกำหนดหลักการจริยธรรม (Ethical Principles) การพัฒนา Ethical AI ควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดหลักการที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือเป้าหมายของการใช้ AI โดยใช้หลักธรรมเชิงสังคมและประชาธิปไตย เช่น ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเป็นส่วนตัว และความซื่อสัตย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวกับในการพัฒนา Ethical AI ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรม กฎหมาย และขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หลักการจริยธรรมที่คิดค้นขึ้นมาไม่ขัดหรือแย้งกับความคิดของสังคม

การประชาสัมพันธ์ (Public Engagement) คือการเปิดโอกาสให้สนใจและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้งาน AI เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและการตัดสินใจเกี่ยวกับ AI ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น การจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ และการสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา AI ดังกล่าว หากการพัฒนา AI ได้มีการดำเนินการในลักษณะนี้ก็จะช่วยยกระดับความโปร่งใสในการพัฒนา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน

การทดสอบและประเมิน (Testing and Evaluation) การดำเนินการขั้นตอนนี้จะต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและประสิทธิภาพของระบบโดยใช้ชุดข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรอบแนวคิดเชิงจริยธรรม แนวปฏิบัติ และการทดสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหาข้อบกพร่องและช่องว่างในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุง AI อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางจริยธรรมในระยะยาว

สรุป

AI คือเทคโนโลยีใหม่ที่มีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของเรามากขึ้นไม่แพ้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ประโยชน์ของ AI มีมากมาย ประกอบกับการได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วก็ยิ่งช่วยทวีความสามารถให้สูงมากขึ้นไปอีก กระนั้นก็ดี ประเด็นด้านจริยธรรมของ AI ยังคงเป็นที่ถกเถียงเพราะประกอบด้วยปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ สภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนที่มีต่อ AI ก็ยังไม่เท่ากันอีกด้วย ประเด็นเหล่านี้ทำให้การพัฒนา AI ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับบทความถัดไปผมจะกล่าวถึงเทรนด์ AI ในปี 2024 นะครับว่ามีประเด็นใดน่าติดตามบ้าง

Subscribe to Sorranart Rattanarojmongkol
Receive the latest updates directly to your inbox.
Mint this entry as an NFT to add it to your collection.
Verification
This entry has been permanently stored onchain and signed by its creator.