5 เทรนด์เทคโนโลยีต้องรู้แห่งปี 2024

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่าง ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนถึงขั้นเข้ามาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับคนทำงานหลายภาคส่วน ส่วนนวัตกรรมความจริงผสม (Mixed Reality) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทการในการติดต่อสื่อสารและการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ที่หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจการลดโลกร้อนด้วยการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ขณะเดียวกันภัยคุกคามจากมิจฉาชีพและการจารกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ (Cyber Security) ที่ครอบคลุมทุกมิติ ส่วนการแปลงโฉมองค์กรให้เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ก็เป็นกระบวนการที่ทุกองค์กรยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม และการยกระดับและพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงาน

แนวโน้มเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงเกิดและจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2024 อันเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาคึกคักหลังจากเซื่องซึมมา 2 – 3 ปี เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น การทำความเข้าใจที่มาและผลกระทบจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

AI เทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2023 คือปีแห่ง AI หลังจากที่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT ซึ่งเป็นระบบสนทนาออนไลน์ที่ประยุกต์ใช้แบบจำลองประมวลผลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model หรือ LLM) เป็นขุมพลังการขับเคลื่อน ทำให้สามารถแสดงคำตอบได้คล้ายกับภาษาที่มนุษย์ใช้ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ นอกจากนี้ generative AI ที่สามารถสร้างภาพหรือวีดิโอได้จาก “พร้อมพ์ (prompt)” ที่เราพิมพ์เข้าไปก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ได้ทดลองใช้งาน เนื่องจากผลลัพธ์ที่ออกมามีความสวยงาม แปลกตา และบางครั้งก็ถึงกับคาดเดาไม่ได้ จนทำให้บางคนแสดงความกังวลว่าอีกไม่นานศิลปินจะตกงานกันหมด

ปี 2024 จะเป็นปีที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง AI ได้มากขึ้น โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ภาคธุรกิจจะหันมาใช้งาน generative AI มากขึ้นกว่าร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับต้นปี 2023 ส่วนงานศึกษาของ PWC ก็ค้นพบว่า AI จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น 15.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2030 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบ AI ดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นจากข้อมูลมากมาย รวมไปถึงการพัฒนาให้รองรับการใช้งานอื่น เช่น การพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ให้สามารถสร้างเนื้อหาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่อาจมี AI ที่ได้รับการพัฒนาให้ทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และในแวดวงการศึกษาที่ AI สามารถนำมาใช้ในการสร้างเนื้อหาสื่อการสอน เป็นผู้ช่วยงานวิจัยที่มีความซับซ้อน และพัฒนาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแต่ละบุคคล

แน่นอนว่า AI ยังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายในปี 2024 โดยเฉพาะความเอนเอียง (bias) ในการแสดงผลข้อมูลเนื่องจากข้อมูลขาเข้าไม่มีความหลากหลายมากพอ ความถูกต้องและเที่ยงตรงของการประมวลผลข้อมูล ตลอดจนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI ที่ตอนนี้ยังไม่มีผลการศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้น การเฝ้าติดตามการพัฒนา การลองผิดลองถูก และฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่จะใช้รับมือการเปลี่ยนแปลงนี้

Mixed Reality ความเป็นจริงผสมผสาน นวัตกรรมที่มากกว่าความบันเทิง

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

ที่ผ่านมาความเป็นจริงเสมือน เช่น AR หรือ VR มักถูกนำมาประยุกต์ใช้ในสื่อบันเทิง เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมักเป็นคนกลุ่ม Gen Y และ Z มีแนวโน้มเปิดรับเทคโนโลยีใหม่มากกว่า อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้นนั้น ได้ทำให้คนทุกรุ่นคุ้นเคยกับการสั่งซื้อของออนไลน์ การสนทนาและการทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มอย่าง Zoom, Slack และ Figma ตลอดจนการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง TikTok มากขึ้น ความเป็นปกติใหม่ดังกล่าวเป็นการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นก้าวแรกสู่โลกที่ความจริงกับจินตนาการผสมผสานกันจนแยกไม่ออกนั่นเอง

ดังนั้น ปี 2024 จะเป็นปีที่เทคโนโลยีความเป็นผสมผสานจะได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การรักษาสุขภาพ การศึกษา และการค้าปลีกผ่านแนวคิดที่หลากหลาย เช่น การออกแบบโมเดลสามมิติ การผ่าตัดขั้นสูง และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จากการพัฒนาและการแข่งขันที่ไม่หยุดยั้งก็ได้ทำให้อุปกรณ์สวมใส่และเฮดเซ็ตมีแนวโน้มราคาถูกลง ตลอดจนจะได้รับการพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา สวมใส่ได้สบาย สามารถแสดงผลที่ความละเอียดสูง มีมุมมอง (field of view) ที่กว้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในด้านการใช้งานส่วนตัวและการใช้งานเพื่อประกอบอาชีพ เช่น การประชุมบนโลกออนไลน์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเสมือนที่อยู่ในห้องประชุมได้เช่นเดียวกับโลกจริง

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมความเป็นจริงผสมผสานก็ยังคงประสบกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นอาการเวียนหัวที่อาจเกิดขึ้นจากการสวมใส่อุปกรณ์เป็นเวลานาน (motion sickness) อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ที่ยังน้อยเมื่อใช้งานแบบไร้สาย และการผสมผสานกลมกลืนระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนที่ยังต้องปรับปรุง

Green Technology เทคสายเขียวกับนวัตกรรมที่ยั่งยืน

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

พัฒนาการกับการใช้พลังงานเป็นของคู่กัน ที่ผ่านมานวัตกรรมอย่างบล็อกเชนถูกกล่าวหาใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง จนทำไปสู่การคิดค้นวิธีการยืนยันธุรกรรมใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากกว่า เช่นเดียวกับ AI ที่เบื้องหลังต้องใช้ขุมกำลังการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งต้องใช้พลังงานมากอีกเช่นกัน จึงทำให้เทคโนโลยีและประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ฉันใดฉันนั้น

แต่ในปี 2024 เรามีแนวโน้มจะได้เห็นหลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น ยกตัวอย่าง Apple ได้ประกาศที่จะบรรลุเป้าหมาย carbon neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 ขณะที่ Google ประกาศจะพัฒนาศูนย์ข้อมูลและสำนักงานให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เช่นกัน นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าและบริการที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ช่วยเพิ่มแรงกดดันด้านตลาดให้กับหลายองค์กร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอโดย PWC ชี้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 39 มีความเห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาดจะช่วยลดข้อกังวลเกี่ยวกับการยอมรับของผู้บริโภค โดยสามารถนำประเด็นดังกล่าวมาช่วยยกระดับการรับรู้ตราสินค้าและความภักดีของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม องค์กรยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมสีเขียว เช่น ต้นทุนที่สูง ซึ่งเกิดมาจากการพัฒนากระบวนการและขั้นตอนการสกัดวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการพัฒนาสินค้า อาทิ แร่ธาตุที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า การลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด ไปจนถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่แทบจะทั้งหมดเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ความเป็นพลวัตรของตลาดพลังงานก็เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับผู้บริโภคว่าจะเปลี่ยนมาใช้สินค้าพลังงานสะอาดหรือไม่ เช่น ช่วงใดที่น้ำมันมีแนวโน้มราคาถูกลงและค่าไฟฟ้ากลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าออกไปได้

Cyber Resilience การรับมือและการตอบสนองต่อภัยคุกคามออนไลน์

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

ปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกที่บรรดามิจฉาชีพและจารชนจะใช้ช่องทางนี้ในการทำมาหากินด้วยเช่นกัน ในปี 2023 เราได้เห็นข่าวการโดนเจาะระบบครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และกระทั่งบริษัทซอฟต์แวร์ก็หนีไม่พ้น โดยผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่าหนึ่งในสองของภาคธุรกิจได้ตกเป็นเหยื่อของการจู่โจมออนไลน์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอาจเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านล้านเหรียญ ภายในปี 2024

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า Cyber Security ซึ่งหมายถึง การป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ แต่ในปี 2024 เราจะได้ยินคำว่า Cyber Resilience มากขึ้น คำจำกัดความของคำดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกว่าการป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ โดยหมายถึง ถึงการเตรียมพร้อม การตอบสนอง และการฟื้นฟูหลังจากที่องค์กรถูกจู่โจมออนไลน์ เพราะฉะนั้น วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะมีความหลากหลายมากกว่าการเตรียมพร้อมด้านเทคนิคและหมายรวมถึงแนวปฏิบัตินอกเหนือจากหน้าที่ของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรอย่างเดียว ยกตัวอย่าง การฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรทั้งหมดเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามออนไลน์ การเตรียมอุปกรณ์และสำนักงานสำรองฉุกเฉินกรณีไม่สามารถปฏิบัติงาน ณ สำนักงานได้ ไปจนถึงการรับมือกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อื่น ๆ เช่น การถูกโจมตีเรียกค่าไถ่ เป็นต้น

ภัยคุกคามออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นสะท้อนว่ายังมีความท้าทายอีกมากที่องค์กรต้องเตรียมรับมือ เช่น การโจมตีออนไลน์ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายรูปแบบจนเกินกว่าที่องค์กรเดียวจะรับมือไหว การพัฒนามาตรการที่สมดุลระหว่างการป้องกันและรักษาความปลอดภัยออนไลน์กับประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์ของพนักงาน ความตระหนักรู้ในตัวของพนักงานเอง ตลอดจนการพัฒนากรอบแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของพนักงานทั้งองค์กร

Digital Transformation หนทางสู่องค์กรดิจิทัลที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

การยกระดับองค์กรสู่ดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2020 – 2022 และการกำเนิดใหม่ของเทคโนโลยี AI ในปี 2023 ได้ทำให้หลายหน่วยงานตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาดิจิทัลมากขึ้นในปี 2024 โดย Gartner คาดการณ์ว่าการประชุมแบบที่ทุกคนต้องเข้ามานั่งในห้องเดียวกันจะลดลงเหลือเพียงร้อย 25 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น ส่วนเว็บไซต์ TechRepublic รายงานว่า ร้อยละ 43 ของงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรจะมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสู่ดิจิทัล

จริง ๆ แล้วการยกระดับสู่องค์กรดิจิทัลคือเทรนด์ที่เป็นข้อสรุปของทุกเทรนด์ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI และการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร หรือ ML (Machine Learning) มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นตัวช่วยการตัดสินใจของพนักงาน และเปลี่ยนระบบงานบางอย่างให้เป็นอัตโนมัติ การพัฒนาประสบการณ์ติดต่อกับลูกค้า การจัดประชุมภายในองค์กรและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบนโลกเสมือน การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์และเทคโนโลยีสะอาดอื่น ๆ และการยกระดับการเตรียมพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ เป็นต้น เป็นไปได้อย่างแน่นอนว่าหลายองค์กรจะยกระดับกิจกรรมเหล่านี้ให้เข้มข้นมากขึ้นในปี 2024

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย สำหรับการยกระดับองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นอาจมีข้อควรคำนึงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยพนักงานที่อยู่ในองค์กรมานาน การขาดแคลนพนักงานกลุ่ม digital talent ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภาระด้านงบประมาณที่จะมีขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตลอดจนการไล่ตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้ทัน ซึ่งทำได้ยากโดยเฉพาะกับองค์กรขนาดใหญ่และอยู่มานาน

สรุป

เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดเวลา การติดตาม ปรับตัว และรับมือกับการมาถึงของนวัตกรรมอัจฉริยะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่บุคคลและองค์กรต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2024 ที่โลกฟื้นตัวจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 แล้วอย่างเต็มที่ เนื่องจากจะเป็นปีที่องค์กรทุ่มทรัพยากรไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างเต็มที่หลังจากซบเซามาพักใหญ่

สำหรับบทความหน้าผมพูดถึงเรื่องของ Ethical AI หรือจริยธรรมของ AI นะครับว่าปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว และเราควรจะไว้ใจ AI ได้หรือไม่

Subscribe to Sorranart Rattanarojmongkol
Receive the latest updates directly to your inbox.
Mint this entry as an NFT to add it to your collection.
Verification
This entry has been permanently stored onchain and signed by its creator.