ไขปริศนาแบตมือถือ: อะไรจริง อะไรมั่ว!?

ปัจจุบันเราใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วราวกับเป็นอวัยวะที่ 33 ถึงแม้เราอาจไม่รู้เลยว่าภายใต้หน้าตาอันแสนเรียบง่ายมีกลไกซับซ้อนใดซ่อนอยู่บ้าง แต่ที่แน่นอนนั้น หนึ่งในกลไกดังกล่าวคือแบตเตอรี่ ซึ่งทำงานสอดประสานกับกลไกอื่นได้อย่างราบรื่นราวกับเวทย์มนต์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดที่เราอาจเคยได้พบคำแนะนำแปลก ๆ เกี่ยวกับแหล่งพลังงานดังกล่าว ซึ่งบางส่วนก็จริงทั้งหมด บางส่วนก็จริงบ้าง และบางส่วนก็มั่วนิ่มสิ้นดี

ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะขอนำเสนอข้อสงสัย 9 ประการเกี่ยวกับแบตเตอรี่สมาร์ทโฟน แล้วอธิบายว่าข้อใดจริง ข้อใดเท็จและข้อเท็จจริงคืออะไร เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทุกคน

การชาร์จแบตเตอรี่ขณะเปิดโหมดเครื่องบินจะทำให้ชาร์จเร็วขึ้น

จริง (บ้าง): ข้อแนะนำที่เราเคยได้ยินกันบ่อยคือ ถ้าอยากชาร์จแบตให้เต็มเร็วก็ให้เปิดโหมดเครื่องบินเสีย เพราะจะเป็นการปิดการรับคลื่นวิทยุของมือถือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และสำหรับมือถือบางรุ่นก็ยังเป็นการปิดระบบบลูทูธและไวไฟอีกด้วย ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว การปิดฟังก์ชันการใช้งานดังกล่าวเป็นการบังคับให้มือถือทำงานน้อยลง ซึ่งก็น่าจะทำให้ชาร์จแบตได้ไวขึ้นตามไปด้วย แต่ก็เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น การทดลองโดยเว็บไซต์ CNET เมื่อไม่นานมานี้ได้ผลการทดสอบว่า มือถือที่เปิดโหมดเครื่องบินสามารถชาร์จแบตได้เร็วกว่าเพียง 4 นาที ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาการใช้งานที่สูญเสียไปขณะเปิดโหมดดังกล่าว

การเปิดใช้งานไวไฟและบลูทูธบนพื้นหลังเป็นการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่

จริง: นอกจากหน้าจอแล้ว บลูทูธและไวไฟคือฟังก์ชันบนมือถือที่สิ้นเปลืองพลังงานมากที่สุด เคยสังเกตไหมครับว่า ขณะที่เราอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยดี มือถือจะเริ่มร้อนขึ้นและแบตเตอรี่ก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากระบบกำลังค้นหาสัญญาณเพื่อเชื่อมต่อตลอดเวลาอยู่นั่นเอง ทางแก้ไขคือ หากสถานที่แห่งนั้นมีไวไฟก็ให้เชื่อมต่อกับไวไฟเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้มือถือค้นหาสัญญาณตลอดเวลา แถมให้อีกนิดนึงก็คือ การปรับลดความสว่างของหน้าจอร่วมกับการลดเวลาที่มือถือจะเข้าสู่โหมดหลับ (sleep) ก็เป็นการประหยัดพลังงานด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการลดการทำงานของหน้าจอนั่นเอง

การปิดมือถือเป็นครั้งคราวจะช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่

ไม่จริง: ในอดีตแบตเตอรี่ชาร์จได้มักทำมาจากนิเกิลเมตัลไฮไดร์ ซึ่งต้องการการคายประจุอย่างสมบูรณ์ทุก ๆ 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้งานต้องใช้อุปกรณ์ให้แบตเตอรี่หมดจริง ๆ ก่อนนำไปชาร์จอย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง ซึ่งเมื่อได้ทำการชาร์จไปแล้ว 200 – 300 ครั้ง แบตเตอรี่ก็จะเริ่มเสื่อมคุณภาพลงเนื่องจากไม่อาจให้พลังงานได้มากเพียงพอ แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมักใช้แบตเตอรี่ที่ทำมาจากลิเทียมไอออน ซึ่งมีความหนาแน่นของพลังงานสูง มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ที่สำคัญคือ ไม่มีการคายประจุเมื่อไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ จึงทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

การชาร์จมือถือผ่านคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว

ไม่จริง: ปัจจุบันไม่มีผลการทดสอบใดมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าการชาร์จมือถือผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว แม้ว่าการชาร์จด้วยวิธีดังกล่าวจะใช้เวลานานกว่าการชาร์จผ่านปลั๊กไฟทั่วไป แต่นั่นกลับกลายเป็นประโยชน์เสียอีก เพราะไม่ได้เป็นการบังคับให้แบตเตอรี่ต้องทำงานหนักมากเกินไป ทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งาน

การใช้อุปกรณ์ชาร์จของยี่ห้อ third party จะทำให้มือถือพังเร็ว

จริง (บ้าง): เพราะขึ้นอยู่กับว่าท่านเลือกใช้งานอุปกรณ์ third party ที่มียี่ห้อเชื่อถือได้หรือไม่ ปัจจุบันเรามักได้ยินข่าวอยู่เนือง ๆ ว่า คนถูกไฟช็อตขณะเล่นมือถือที่กำลังเสียบปลั๊กชาร์จทิ้งไว้บ้าง หรือสายชาร์จติดไฟบ้าง เหตุการณ์ดังกล่าวแทบทั้งหมดเกิดจากการใช้อุปกรณ์ชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม หรืออุปกรณ์ชำรุดแล้วแต่เจ้าของไม่ยอมเปลี่ยน เพราะฉะนั้น หากอุปกรณ์ชาร์จยี่ห้อเดียวกับมือถือที่ท่านกำลังใช้อยู่มีราคาแพงเกินไป ท่านก็ยังมีตัวเลือกมากมายบนร้านค้าออนไลน์ แต่พึงระวังว่า “ต้อง” ซื้อแต่ยี่ห้อที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น โดยพิจารณาจากรีวิวของผู้ใช้งาน บล็อกเกอร์ และยูทูบเบอร์ต่าง ๆ ยิ่งหากยี่ห้อไหนมีตัวแทนจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการยิ่งดีใหญ่ เพราะเป็นการรับประกันได้ในชั้นหนึ่งว่าสินค้าที่จำหน่ายต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ไม่ควรชาร์จแบตมือถือให้เต็ม 100%

ไม่จริง: ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงมากเมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่ Apple นำเสนอระบบการชาร์จที่ช่วยรักษาคุณภาพของแบตเตอรี่ด้วยการคงการชาร์จให้อยู่ที่ระดับ 80% ไว้ให้นานที่สุด และจะเพิ่มอีก 20% ที่เหลือเมื่อถึงเวลาที่จะเริ่มใช้งานในแต่ละวัน แต่ข้อเท็จจริงคือ การชาร์จแบตให้เต็ม 100% ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีกลไกทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการชาร์จนานเกินไปอยู่แล้ว

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

ไม่ควรใช้งานมือถือขณะทำการชาร์จ

จริง: โดยเฉพาะหากต้องการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการใช้มือถือขณะทำการชาร์จนั้นจะเป็นการใช้งานแบตเตอรี่ไปด้วยในตัว ทำให้ใช้เวลาในการชาร์จนานขึ้น

ควรเสียบปลั๊กชาร์จมือถือค้างไว้ตลอดเวลา

ไม่จริง: เชื่อได้ว่าคงมีหลายคนชอบทำพฤติกรรมดังกล่าว เพราะทำให้เรามั่นใจได้ว่ามือถือจะมีพลังงานพร้อมใช้เมื่อเจอกับสถานการณ์เร่งด่วน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้ไม่เป็นผลดีต่ออายุขัยของแบตเตอรี่ในระยะยาว เนื่องจากอาจทำให้แบตเตอรี่ทำงานหนักมากเกินจนเกิดความร้อนสะสม ซึ่งเป็นการบั่นทอนอายุการใช้งาน แต่หากใครเริ่มสังเกตว่าแบตเตอรี่เริ่มหมดไวขึ้น ก็ต้องให้ความสำคัญกับข้อแนะนำสุดท้าย นั่นคือ

ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อถึงเวลา

จริง: แบตเตอรี่ก็เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น นั่นคือย่อมต้องมีการเสื่อมสภาพเมื่อถึงเวลา สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มักมีฟังก์ชันให้ผู้ใช้งานตรวจสอบคุณภาพของแบตเตอรี่ ซึ่งเราควรหมั่นเข้าไปตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อพบว่าแบตเตอรี่หมดพลังงานลงเร็วกว่าปกติ โดยทั่วไปแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วง 2 – 3 ปีแรกของการใช้งาน หลังจากนั้นก็ต้องมาพิจารณากันเป็นรายกรณีล่ะครับว่า สมควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่แล้วหรือยัง

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

สรุป

แบตเตอรี่คือส่วนประกอบที่สำคัญของสมาร์ทโฟน การดูแลรักษาแบตเตอรี่ให้มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทุกคนต่างปรารถนา แต่เนื่องจากสิ่งที่เราได้ยินมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีความเท็จซ่อนอยู่ ผมจึงตัดสินใจสืบค้นข้อมูลแล้วนำมาเรียบเรียงเพื่อให้สิ่งที่เราเคยได้ยินมามีความกระจ่างมากขึ้น

สำหรับบทความหน้า ผมจะพูดถึง AI Gadget ของเล่นใหม่ที่มี AI เป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่ไม่แน่ว่าอีกไม่นานอาจกลายมาเป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญที่ทุกคนต้องมีครับ

Subscribe to Sorranart Rattanarojmongkol
Receive the latest updates directly to your inbox.
Mint this entry as an NFT to add it to your collection.
Verification
This entry has been permanently stored onchain and signed by its creator.