โปรดระวัง มือถือกำลังแอบฟัง: จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม!?

วันก่อนผมมีนัดรับประทานอาหารกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน ระหว่างที่เรากำลังเพลิดเพลินกับอาหารเลิศรสอยู่นั้น หัวข้อการสนทนาก็เปลี่ยนไปเป็นการวางแผนออกทริปไปทะเลช่วงหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึง เพื่อนผมคนหนึ่งหยิบมือถือขึ้นมาค้นหาห้องพักริมทะเลภาคตะวันออก ทันใดเพื่อนคนนั้นพูดออกมาว่า “อะไรกัน (วะ!) แอด (ads) โรงแรมกับห้องพักริมหาดขึ้นเต็มฟีดเฟซบุ๊กไปหมด นี่เฮียมาร์ค (ซักเคอร์เบิร์ก) กำลังแอบฟังพวกเราคุยกันงั้นเหรอ?”

เชื่อได้เลยว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ข้างบนมาบ้างไม่มากก็น้อย ขณะที่เรากำลังสนทนากับกลุ่มเพื่อนหรือแฟนโดยมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตวางอยู่ใกล้ ๆ ทันทีที่เราหยิบขึ้นมาเล่นโซเชียลมีเดียหรือท่องเว็บ ก็จะพบโฆษณาสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับหัวข้อที่เรากำลังสนทนาอยู่แบบเป๊ะ ๆ จนทำให้เกิดความเชื่อแพร่หลายไปทั่วว่า อุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายที่มีไมโครโฟนติดตั้งอยู่กำลังแอบฟังข้อความสนทนาของผู้ใช้ นำข้อมูลป้อนให้บริษัทผู้แทนโฆษณา และระบบจะยิงโฆษณาที่เกี่ยวข้องให้มาปรากฏเบื้องหน้าผู้ใช้งาน ฟังดูมีความเป็นไปได้สูงและเป็นเหตุเป็นผล ว่าแต่ว่ามันจริงชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่นะ!?

จุดเริ่มต้นของความเข้าใจผิด

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

จากการสืบค้นบนโลกออนไลน์ ผมไม่พบหลักฐานต้นกำเนิดของความเชื่อนี้ในเมืองไทย แต่ที่ต่างประเทศ จุดกำเนิดเริ่มมาจากบทความ “Spying Secrets: Is Facebook eavesdropping on your phone conversations?” ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ WFLA News Channel 8 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2016 โดยบทความได้อ้างคำพูดของศาสตราจารย์ Kelli Burns ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย South Florida เพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งวันหลังจากบทความดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ ศาสตราจารย์ Burns ได้เขียนบทความลงบนบล็อกส่วนตัวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง โดยกล่าวว่า เขาเพียงแต่มีความเห็นว่า “Facebook กำลังจับตา (watching) คุณ ไม่ใช่ฟัง (listening) คุณ และคำว่าจับตานั้นเขาหมายถึง Facebook กำลังติดตาม (tracking) คุณอยู่ต่างหาก” หลังจากนั้นไม่นานบทความดังกล่าวก็ถูกลบจากเว็บไซต์ WFLA News Channel 8 แต่ความเชื่อที่ว่าโซเชียลมีเดียได้แอบเปิดไมโครโฟนเพื่อฟังบทสนทนาของผู้ใช้นั้นก็ไวรัลไปทั่วเสียแล้ว

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน Facebook ได้เริ่มต้นการเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้กว่า 98 รายการ ให้กับบริษัทโฆษณา ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย อายุ เพศ เชื้อชาติ มูลค่าบ้าน เป็นต้น ส่งผลให้ Facebook กลายเป็นบริการโซเชียลมีเดียผู้เป็นที่รักของบริษัทโฆษณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดทำให้สามารถยิงโฆษณาได้อย่างแม่นยำตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และทำให้ Facebook ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าหลักพันล้านเหรียญสหรัฐได้ในระยะเวลาอันสั้น สองปีหลังจากนั้นในปี 2018 ประเด็นอื้อฉาว Cambridge Analytica ได้ส่งเสริมให้ความเชื่อที่ว่า Facebook กำลังแอบเก็บข้อมูลผู้ใช้งานอย่างลับ ๆ ยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้น

จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม!?

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะฟังดูมีเหตุมีผลมากเท่าใด ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากหลายแห่งได้ผลที่ขัดแย้งกันกับความเชื่อดังกล่าว

เมื่อปี 2019 เว็บไซต์ BBC ได้เผยแพร่ผลการทดลองของบริษัท Wandera ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยคุกคามไซเบอร์ ที่ได้ทำการทดลองโดยนำสมาร์ทโฟนของ Samsung ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android จำนวน 1 เครื่อง และ iPhone จำนวน 1 เครื่อง เข้าไปวางไว้ใน “ห้องเสียง” (audio room) ที่มีการเปิดเล่นโฆษณาอาหารสุนัขและแมววนไปมาเป็นระยะเวลา 30 นาที ส่วนอีกห้องหนึ่งชื่อว่า “ห้องเงียบ” (silent room) ผู้วิจัยได้นำสมาร์ทโฟนจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใส่ไว้ในห้องเสียง ไปวางไว้เฉย ๆ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ

ต่อมาผู้วิจัยได้เปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook, Instagram, Chrome, SnapChat, YouTubeและ Amazon บนสมาร์ทโฟนทั้ง 4 เครื่อง และอนุญาตให้ทุกแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงและใช้งานคุณสมบัติต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟนได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ หลังจากนั้น ผู้วิจัยได้ตรวจนับจำนวนโฆษณาที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มตามที่ได้กล่าวไป และเข้าไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบว่ามีโฆษณาอาหารสัตว์เลี้ยงโผล่ขึ้นมาบ้างหรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์ปริมาณการใช้งานแบตเตอรี่และการใช้งานอินเทอร์เน็ตของสมาร์ทโฟนทั้ง 4 เครื่อง ประกอบกันไปด้วย ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการทดลองซ้ำอีกเป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยดำเนินการวันละ 1 ครั้ง เป็นจำนวน 3 วัน และดำเนินการในเวลาเดียวกัน

ผลการทดลองพบว่า ไม่พบโฆษณาอาหารสัตว์เลี้ยงปรากฏบนสมาร์ทโฟนทั้ง 2 เครื่อง ที่วางไว้ในห้องเสียง และไม่พบว่าสมาร์ทโฟนทั้ง 2 เครื่องดังกล่าวใช้แบตเตอรี่และอินเทอร์เน็ตมากกว่าสมาร์ทโฟน 2 เครื่อง ที่ว่างไว้ในห้องเงียบอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้ใช้ไมโครโฟนในการเก็บข้อมูลเสียงเพื่อนำไปวิเคราะห์การโฆษณาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northeastern สหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองที่คล้ายคลึงกันกับการทดลองที่ได้กล่าวไป แต่เพิ่มปริมาณแอปพลิเคชันเป็นกว่า 17,000 แอปพลิเคชัน เพื่อพิสูจน์ว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ได้มีการแอบเปิดไมโครโฟนเพื่อฟังเสียงผู้ใช้งานหรือไม่ ซึ่งผลการทดลองพบว่า ไม่มีแอปพลิเคชันใดเลยที่จะแอบเปิดลำโพงเพื่อรับฟังเสียงของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต

อะไรคือข้อเท็จจริง

ภาพจาก Pixabay
ภาพจาก Pixabay

เมื่อผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ไม่มีแอปพลิเคชันใดที่ใช้ลำโพงลักลอบฟังการสนทนา แล้วโฆษณาที่เกี่ยวข้องมันโผล่มาได้อย่างไร!? ข้อเท็จจริงคือ บริษัทโฆษณาและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีวิธีการอันหลากหลายและซับซ้อนในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อความเสียงเลยนั่นเอง

ลองพิจารณากิจกรรมที่เราทำบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเว็บไซต์ การซื้อสินค้า การโพสต์ความเห็นลงบนโซเชียลมีเดีย การค้นหาร้านอาหารบน Google การถ่ายภาพและโพสต์บน Instagram ฯลฯ รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดจากการทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่บริษัทโฆษณาสามารถนำมาประกอบรูปร่างที่เป็นตัวท่านได้อย่างแม่นยำมาก โดยการนำข้อมูลบิ๊กดาต้าไปประมวลผลโดยเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) และอัลกอริธึมที่ออกแบบมาเพื่อการขายโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นเลยที่แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนจะต้องใช้ไมโครโฟนในการฟังเสียงผู้ใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีก เพราะกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันบนสมาร์ทโฟนเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเลิศเกี่ยวกับตัวเราอยู่แล้ว ผมจึงขอสรุปสั้น ๆ ก่อนจบบทความนี้ได้เลยว่า ความเชื่อที่บอกว่ามือถือกำลังแอบฟังเราอยู่นั้นเป็นเรื่องมั่วนิ่มทั้งเพ!

สรุป

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำงานอยู่เบื้องหลังฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีความลึกลับซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก ความเชื่อที่ว่ามือถือมักใช้ไมโครโฟนในการแอบฟังบทสนทนาของผู้ใช้เพื่อประโยชน์ในการโฆษณาเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง

วันนี้เราได้มาพิจารณาความเชื่อที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์กันไปแล้ว บทความหน้าผมจะนำเสนอความเชื่อเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์เพื่อตีแผ่ความจริงกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดแวร์ดังกล่าวจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “แบตเตอรี่” ของสมาร์ทโฟนครับ

Subscribe to Sorranart Rattanarojmongkol
Receive the latest updates directly to your inbox.
Mint this entry as an NFT to add it to your collection.
Verification
This entry has been permanently stored onchain and signed by its creator.