Why Decentralization Matters โดย Chris Dixon (แปลไทย)

#ReadingCrypto EP.02
Why Decentralization Matters | ทำไมการกระจายศูนย์ถึงสำคัญ

ผู้เขียน: คริส ดิกซ์สัน (Chris Dixon)
ความเรียงต้นฉบับตีพิมพ์: 18 กุมภาพันธ์ 2018
อ่านความเรียงต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่
แปลภาษาไทย: Nucha Nucha (Twitter: @Nucha_nicha)

[ความเรียงภาคภาษาไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ #ReadingCrypto ซีรีส์แปลความเรียงเท็กซ์หลัก (canonical text) ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับปรัญชา, แนวคิด, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของคริปโต, Web 3.0 และอินเตอร์เน็ต]


ทำไมการกระจายศูนย์ถึงสำคัญ

เครดิต: Eduard Muzhevskyi/iStock/Getty Images Plus
เครดิต: Eduard Muzhevskyi/iStock/Getty Images Plus

สองยุคแรกของอินเตอร์เน็ต

ในช่วงยุคแรกของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเริ่มจากช่วงประมาณทศวรรษที่ 1980 ถึงประมาณช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 บริการบนอินเตอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นบนโพรโตคอลแบบเปิดซึ่งถูกควบคุมโดยชุมชนอินเตอร์เน็ต จึงกล่าวได้ว่าผู้คนหรือองค์กรสามารถขยายฐานตัวตนบนโลกอินเตอร์เน็ตของตัวเองได้อย่างมั่นใจว่ากฎของเกมนี้จะไม่เปลี่ยนในภายหลัง เว็บพร็อพเพอร์ตี้ (web property) ขนาดใหญ่ถูกบุกเบิกในยุคนี้ อาทิ ยาฮู้, กูเกิ้ล, แอมะซอน, เฟสบุ้ก, ลิงค์อิน และยูทูป โดยในระหว่างทาง ความสำคัญของแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์อย่างเอโอแอลก็ได้ลดลงอย่างมหาศาล

ในช่วงยุคที่สองของอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 จวบจนถึงปัจจุบัน บริษัทเทคที่แสวงหากำไร นำโดย กูเกิ้ล, แอปเปิ้ล, เฟสบุ้ก, และอะแมซอน (หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่ม GAFA - Google, Apple, Facebook, Amazon) ได้สร้างซอฟต์แวร์และบริการที่แซงหน้าขีดความสามารถของโพรโตคอลแบบเปิดไปได้อย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสมาร์ตโฟน ยิ่งเร่งความเร็วให้แก่เทรนด์นี้เมื่อโมบายล์แอปได้กลายเป็นช่องทางการใช้งานหลักของอินเตอร์เน็ต จนในที่สุดผู้ใช้งานก็โยกย้ายจากบริการแบบเปิด มายังบริการแบบรวมศูนย์ที่ถูกพัฒนาจนมีความซับซ้อนมากกว่า และแม้ว่าผู้ใช้จะยังคงใช้งานโพรโตคอลแบบเปิดอย่างเว็บ แต่พวกเขากลับมักจะเข้าผ่านช่องทางซอฟต์แวร์และบริการของกลุ่ม GAFA อยู่ดี

ข่าวดีก็คือ คนหลายพันล้านสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีมหัศจรรย์เหล่านี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเปิดให้ใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ข่าวร้ายที่ตามก็คือ มันกลายเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับสตาร์ทอัพ ครีเอเตอร์ และคนกลุ่มอื่นๆ ในการขยายตัวตนบนอินเตอร์เน็ตของพวกเขาโดยปราศจากความกังวลว่า แพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์จะหันมาเปลี่ยนกฎใส่พวกเขากลางอากาศ หรือพรากผู้ติดตามและยึดกำไรของพวกเขาไป ประเด็นนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนานวัตกรรม และทำให้ความน่าสนใจและพลวัตของอินเตอร์เน็ตถดถอยลงไป นอกจากนั้น การรวมศูนย์ยังสร้างความตึงเครียดภายในสังคมระดับกว้าง อย่างที่เราได้เห็นจากการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น เช่น ข่าวปลอม, บอตที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐ, การทำให้ผู้ใช้งาน “ไม่ให้มีที่ยืน”, กฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป และความลำเอียงที่เกิดจากอัลกอริทึม การถกเถียงเช่นนี้มีแต่จะรุนแรงขึ้นภายในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า

“เว็บ 3”: ยุคที่สามของอินเตอร์เน็ต

หนึ่งวิธีในการโต้กลับต่อการรวมศูนย์เช่นนี้คือ การบังคับใช้กฎระเบียบของภาครัฐกับบริษัทอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ การตอบโต้เช่นนี้ตั้งอยู่บนข้อสันนิฐานว่า อินเตอร์เน็ตมีลักษณะที่คล้ายกับเครือข่ายการสื่อสารจากยุคก่อนๆ อย่าง โทรศัพท์ วิทยุ และเครือข่ายโทรทัศน์ แต่พวกเครือข่ายจากยุคก่อนที่สร้างอยู่บนฮาร์ดแวร์เหล่านี้ มีพื้นฐานที่แตกต่างกับอินเตอร์เน็ตที่เป็นเครือข่ายที่สร้างอยู่บนซอฟต์แวร์โดยสิ้นเชิง หากเครือข่ายที่สร้างอยู่บนฮาร์ดแวร์ถูกสร้างขึ้นแล้ว มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สถาปัตยกรรมของพวกมันจะถูกรื้อสร้างใหม่ แต่สถาปัตยกรรมของเครือข่ายที่สร้างอยู่บนซอฟต์แวร์ สามารถถูกรื้อสร้างได้ด้วยนวัตกรรมของผู้ประกอบการ และพลังของตลาด

อินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่สร้างอยู่บนซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง มันประกอบไปด้วยแกนชั้นในที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถเขียนโปรแกรมได้อย่างเต็มสูบหลายพันล้านตัวที่ตั้งอยู่รอบนอก ซอฟต์แวร์แท้จริงแล้วก็คือการเข้ารหัสความคิดของมนุษย์นั่นเอง มันมีพื้นที่สำหรับการออกแบบที่ไร้ขีดจำกัด คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตโดยทั่วไป มักจะสามารถรันซอฟต์แวร์อะไรก็ได้ตามที่เจ้าของต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตามที่จินตนาการจะไปถึง หากมีชุดแรงจูงใจที่ถูกต้องแล้ว มันจะสามารถแพร่พันธ์ุบนอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว สถาปัตยกรรมของอินเตอร์เน็ตคือที่ที่ความคิดสร้างสรรค์ทางเทคนิค และการออกแบบแรงจูงใจมาบรรจบกัน

อินเตอร์เน็ตยังอยู่ในช่วงต้นของวิวัฒนาการ และการบริการหลักบนอินเตอร์เน็ตก็คงจะโดนรื้อสร้างสถาปัตยกรรมกันใหม่เกือบทั้งหมดในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า มันจะเกิดขึ้นได้ด้วยเครือข่ายคริปโตเอกโคโนมิก (cryptoeconomic) ซึ่งเป็นการกลั่นกรองแนวความคิด โดยเริ่มเป็นที่รู้จักผ่านบิตคอยน์ และถูกนำมาพัฒนาต่อยอดโดยอีเธอเรียม เครือข่ายคริปโต (cryptonetwork) ได้ผนวกคุณสมบัติที่ดีที่สุดจากสองยุคแรกของอินเตอร์เน็ตอย่างการปกครองโดยชุมชน และเครือข่ายกระจายศูนย์ที่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถแซงหน้าบรรดาบริการแบบรวมศูนย์ที่ก้าวหน้ามากที่สุดได้ในอนาคต

ทำไมถึงต้องกระจายศูนย์?

การกระจายศูนย์ (decentralization) เป็นคอนเซปต์ที่มักจะถูกเข้าใจผิดกันอยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ในบางครั้งมีการกล่าวว่าเหตุผลที่เครือข่ายคริปโตสนับสนุนให้เกิดการกระจายศูนย์เพื่อมาต่อต้านการถูกเซ็นเซอร์โดยภาครัฐ หรือเป็นเพราะว่ามุมมองทางการเมืองแบบอิสรนิยม (libertarian) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้การกระจายศูนย์มีความสำคัญ

ลองมาดูปัญหาของแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์กันก่อน แพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์มีวงจรชีวิตที่คาดเดาได้ ในช่วงที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ พวกมันจะทำทุกอย่างเพื่อระดมผู้ใช้งานและกลุ่มบุคคลที่สามที่จะมาช่วยทำให้แพลตฟอร์มสมบูรณ์ขึ้น เช่น นักพัฒนา ธุรกิจ และองค์กรสื่อ พวกมันทำเช่นนี้เพื่อให้บริการของตนมีคุณค่ามากขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์ม (ตามนิยามแล้ว) คือระบบที่เกิดจากผลกระทบเชิงเครือข่าย (network effect) ในหลากหลายมิติ ในขณะที่แพลตฟอร์มขยับขึ้นตามกราฟเอสเคิร์ฟ (s-curve) ของการใช้งาน อำนาจเหนือผู้ใช้งานและบุคคลที่สามของพวกมันก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อแพลตฟอร์มขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของกราฟเอสเคิร์ฟ ความสัมพันธ์ระหว่างพวกมันกับผู้มีส่วนร่วมภายในเครือข่ายก็เปลี่ยนจากเกมบวก (positive sum) กลายเป็นเกมศูนย์ (zero sum) วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเติบโตต่อไป คือการรีดไถข้อมูลจากผู้ใช้งาน และหันมาแข่งขันในด้านผู้ใช้งานและกำไรกับส่วนที่เดิมทีเคยช่วยแพลตฟอร์มสมบูรณ์ขึ้น กรณีตัวอย่างที่พบเจอในอดีตก็มี ไมโครซอฟท์ vs. เน็ตสเคป, กูเกิ้ล vs. เยิล์ป, เฟสบุ้ก vs. เซงก้า และทวิตเตอร์ vs. ไคลเอนต์บุคคลที่สาม ส่วนระบบปฏิบัติการอย่างไอโอเอส และแอนดรอยด์ ถึงจะประพฤติตัวดีกว่าผู้อื่น แต่ก็ยังเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึง 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังปฏิเสธแอปด้วยเหตุผลที่ดูเหมือนเป็นการตัดสินตามความพึงพอใจ และยึดฟั่งชันก์การใช้งานจากแอปบุคคลที่สามให้มาอยู่ใต้อาณัติเมื่อต้องการ

สำหรับบรรดาผู้มีส่วนร่วมบุคคลที่สามแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากการร่วมมือเป็นการแข่งขันเช่นนี้ ทำให้พวกเขารู้สึกราวกับว่ามันคือกลโกงเบตแอนด์สวิตช์ (bait-and-switch) เมื่อเวลาล่วงเลยไป เหล่าผู้ประกอบการ นักพัฒนา และนักลงทุนชั้นเยี่ยมที่สุด ก็เริ่มแคลงใจที่จะสร้างอะไรบนแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ ในปัจจุบัน เรามีหลักฐานจากหลายทศวรรษว่า การทำเช่นนั้นล้วนแต่จะจบลงด้วยความผิดหวังทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้ว ผู้ใช้งานยังต้องสละความเป็นส่วนตัวและอำนาจในการควบคุมข้อมูลของตัวเอง และยังต้องเจอความเสี่ยงจากช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอีกด้วย ปัญหาเหล่านี้ของแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นในอนาคต

เมื่อเครือข่ายคริปโตก้าวสู่สังเวียน

เครือข่ายคริปโต คือเครือข่ายที่สร้างอยู่บนอินเตอร์เน็ต โดย 1) ใช้กลไกฉันทามติ (consensus mechanism) อย่างบล็อกเชนในการรักษาและอัพเดทสเตท 2) ใช้คริปโตเคอเรนซี (คอยน์/โทเคน) ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนร่วมกับระบบฉันทามติ (นักขุด (miner)/ วาลิเดเตอร์ (validator)) และผู้มีส่วนร่วมในด้านอื่นๆ เครือข่ายคริปโตบางเครือข่าย เช่น อีเธอเรียม คือแพลตฟอร์มสำหรับเขียนโปรแกรมทั่วไปที่สามารถนำไปใช้งานได้กับเกือบทุกวัตถุประสงค์ ส่วนเครือข่ายคริปโตอื่นๆ มีวัตถุประสงค์พิเศษ อาทิ บิตคอยน์เกิดมาด้วยความตั้งใจหลักในการเก็บรักษามูลค่า, โกเลม (Golem) เกิดมาเพื่อการคำนวณประมวลผล, และไฟล์คอยน์ (Filecoin) เกิดมาเพื่อเก็บรักษาไฟล์แบบกระจายศูนย์

โพโตคอลอินเตอร์เน็ตในช่วงยุคบุกเบิก คือข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มทำงานหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งอาศัยแนวร่วมภายในชุมชนอินเตอร์เน็ตที่มีความสนใจเหมือนกันเพื่อทำให้เกิดการนำไปใช้งาน วิธีการนี้ได้ผลดีในระยะเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีโพรโตคอลใหม่ๆ จำนวนน้อยมากที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เครือข่ายคริปโตเข้ามาแก้ปัญหานี้โดยมอบแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ให้แก่นักพัฒนา ผู้ดูแล และผู้มีส่วนร่วมในเครือข่ายคนอื่นๆ ในรูปแบบของโทเคน พวกมันแข็งแกร่งในเชิงเทคนิคกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น พวกมันสามารถรักษาสเตท และทำการเปลี่ยนแปลงสเตทตามที่จต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่โพรโตคอลในอดีตไม่สามารถทำได้

เครือข่ายคริปโตใช้กลไกหลายอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพวกมันจะสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ในระหว่างที่มันเริ่มเติบโต และป้องกันไม่ให้เกิดอาการเบตแอนด์สวิตช์อย่างแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ ลำดับแรก สัญญาระหว่างเครือข่ายคริปโตและผู้มีส่วนร่วมถูกบังคับใช้ผ่านโค้ดแบบโอเพนซอร์ซ ลำดับที่สอง พวกมันถูกควบคุมไว้โดยกลไกสำหรับการ “ส่งเสียง” และ “การเดินออก” (voice and exit) ผู้มีส่วนร่วมมีสิทธิ์มีเสียงผ่านการปกครองโดยชุมชน ทั้งในรูปแบบ “บนเชน” (on chain) (ผ่านตัวโพรโตคอลเอง) และ “นอกเชน” (off chain) (ผ่านโครงสร้างทางสังคมที่รายล้อมตัวโพรโตคอล) ผู้มีส่วนร่วมสามารถเดินออกได้โดยเลิกใช้เครือข่ายและขายเหรียญของตัวเอง หรือในกรณีสุดโต่ง ก็สามารถฟอร์ค (fork) โพรโตคอลได้เช่นกัน

สรุปโดยสังเขปก็คือ เครือข่ายคริปโตสามารถจัดวางให้ผู้มีส่วนร่วมในเครือข่ายสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้ เพื่อการเติบโตของเครือข่ายและการแข็งค่าของโทเคน การหาแนวร่วมเช่นนี้ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่บิตคอยน์ยังสามารถแข็งข้อต่อบรรดาผู้กังขา และพัฒนาเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ แม้ว่าเครือข่ายใหม่ๆ อย่างอีเธอเรียมจะเติบโตเคียงข้างมัน

ในปัจจุบัน เครือข่ายคริปโตกำลังตรากตรำกับข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้พวกมันท้าทายกลุ่มรวมศูนย์ผู้ครองบัลลังก์ได้อย่างจริงจังเท่าที่ควร ข้อจำกัดที่สาหัสที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพและศักยภาพในการรองรับการขยายตัว (scalability) ช่วงเวลาในปีต่อๆ ไปนี้ จะถูกใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และสร้างเครือข่ายที่ทำให้เกิดชั้นโครงสร้างพื้นฐานของชุดเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาคริปโต (crypto stack) และหลังจากนั้นพลังงานส่วนใหญ่ก็จะถูกหมุนไปสร้างแอปพลิเคชันบนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น

สิ่งที่จะทำให้กระจายศูนย์ชนะ

มันเป็นเรื่องหนึ่งที่จะกล่าวว่าเครือข่ายการกระจายศูนย์ควรจะชนะ และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะกล่าวว่าพวกมันจะชนะ ลองมาดูเหตุผลพิเศษที่จะทำให้เรามีความหวังในเรื่องนี้

ซอฟต์แวร์และการบริการบนเว็บถูกสร้างขึ้นโดยนักพัฒนา มีนักพัฒนาที่เก่งกาจนับล้านบนโลกนี้ โดยมีเพียงแค่เสี้ยวเดียวที่ทำงานอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ และเพียงส่วนน้อยมากๆ ของคนในเสี้ยวนั้น ที่กำลังทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีหลายโปรเจ็กต์ซอฟต์แวร์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นโดยสตาร์ตอัพ หรือชุมชนของนักพัฒนาอิสระ

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คนฉลาดที่สุดส่วนใหญ่ทำงานให้ผู้อื่น”


เครือข่ายกระจายศูนย์จะสามารถคว้าบัลลังก์ในยุคที่สามของอินเตอร์เน็ตได้ ก็ด้วยเหตุผลประการเดียวกันกับที่ทำให้มันเป็นผู้ชนะในยุคแรก นั่นคือการชนะทั้งสมองและหัวใจของผู้ประกอบการและนักพัฒนา

การเปรียบเเทียบที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนคือ การชิงชัยของคู่ปรับในช่วงทศวรรษที่ 2000 ระหว่างวิกิพีเดียและคู่แข่งรวมศูนย์อย่างเอนคาร์ตา หากคุณนำผลิตภัณฑ์ทั้งสองมาเปรียบเทียบกันในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 เอนคาร์ตาถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าอยู่หลายช่วงตัว เนื่องด้วยเนื้อหาครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลายมากกว่า และแม่นยำมากกว่า แต่กระนั้น วิกิพีเดียกลับพัฒนาด้วยอัตราที่เร็วกว่ามาก เพราะมันมีชุมชนของเหล่าผู้เข้ามาช่วยงานแสนกระตือรือร้น ผู้ซึ่งดึงดูดต่อสปิริตของชุมชนอย่างการกระจายศูนย์และการปกครองโดยชุมชน ต่อมาในปี 2005 วิกิพีเดียได้กลายเป็นเว็บไซต์อ้างอิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนอินเตอร์เน็ต ส่วนเอนคาร์ตาปิดตัวลงในปี 2009

บทเรียนของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อใดที่คุณจะนำระบบรวมศูนย์มาเปรียบเทียบกับระบบกระจายศูนย์ คุณต้องพิจารณาพวกมันในฐานะกระบวนการที่มีพลวัตอยู่ตลอด แทนที่จะคิดถึงมันในฐานะผลิตภัณฑ์ที่แข็งทื่อไร้การเปลี่ยนแปลง ระบบรวมศูนย์มักจะออกตัวด้วยระบบที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่มันจะพัฒนาได้แค่ตามอัตราที่พนักงานในบริษัทซึ่งหนุนหลังมันอยู่จะสามารถพัฒนาได้ ส่วนระบบกระจายศูนย์นั้น ถึงแม้จะออกตัวแบบเสร็จครึ่งๆ กลางๆ แต่หากอยู่ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมแล้ว มันจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อมันสามารถดึงดูดผู้เข้ามาช่วยงานคนใหม่ๆ เข้ามา

ในกรณีของเครือข่ายคริปโตนั้น มันมีวงจรการคิดทบทวน (feedback loop) ที่ทบรวมกันมาจากวงจรหลากหลายอย่าง ซึ่งเข้าไปมีเอี่ยวกับกลุ่มนักพัฒนาหลักของโพรโตคอล กลุ่มนักพัฒนาเครือข่ายคริปโตที่เกื้อหนุนกัน กลุ่มนักพัฒนาของแอปพลิเคชันบุคคลที่สาม และผู้ให้บริการต่างๆ ที่เป็นผู้ดำเนินการเครือข่าย วงจรการคิดทบทวนเหล่านี้ยังสามารถแผ่ขยายเพิ่มขึ้นได้ด้วยแรงจูงใจที่เกิดจากโทเคนที่เกี่ยวข้อง อย่างที่เราพบเห็นได้จากบิตคอยน์และอีเธอเรียม มันสามารถเร่งเครื่องได้เต็มสูบตามอัตราที่ชุมชนคริปโตพัฒนาไป (และบางครั้งก็นำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงลบ อย่างการขุดบิตคอยน์ที่กินไฟมหาศาล)

คำถามที่ว่า ระหว่างระบบแบบกระจายศูนย์และระบบแบบรวมศูนย์แล้ว ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะของอินเตอร์เน็ตในยุคต่อไป สามารถถูกย่อยลงมากลายเป็นคำถามว่า ใครกันแน่ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตราตรึงใจที่สุด และสามารถถูกย่อยลงได้อีกเป็นคำถามว่า ใครที่จะได้นักพัฒนาและผู้ประกอบการชั้นเยี่ยมมาอยู่ฝั่งตนมากว่ากัน กลุ่ม GAFA มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ตั้งแต่เงินสดสำรอง ฐานผู้ใช้งานขนาดมหึมา และโครงสร้างพื้นฐานที่ทำงานได้ดี ส่วนเครือข่ายคริปโตมีคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (value proposition) ที่จับใจนักพัฒนาและผู้ประกอบการนำหน้าไปหลายขุม ถ้าพวกเขาสามารถชนะทั้งความคิดและจิตใจได้ล่ะก็ พวกเขาจะสามารถระดมทรัพยากรได้มากกว่ากลุ่ม GAFA อย่างมหาศาล และสามารถแซงหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปอย่างไม่เห็นฝุ่น

“ถ้าคุณถามผู้คนในปี 1989 ว่าพวกเขาต้องการอะไรที่จะให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น มันคงจะเป็นไปได้ยากที่พวกเขาจะตอบว่า เครือข่ายโหนดข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่เชื่อมโยงกันผ่านการใช้ไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext)”


แพลตฟอร์มรวมศูนย์มักจะถูกเปิดตัวในรูปแบบแพ็คเกจรวมแอปสุดพิเศษ อาทิ เฟสบุ้คมีฟีเจอร์หลักนานาชนิดที่ตอบโจทย์การเข้าสังคม ส่วนไอโฟนก็มีแอปหลักๆ หลายแอปติดมากับเครื่อง ในอีกฝั่งหนึ่งที่ต่างออกไป แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์มักจะถูกปล่อยมาในลักษณะราวกับอาหารที่ยังทำไม่เสร็จ และไม่มีกรณีการใช้งานที่ชัดเจน สิ่งที่ตามมาก็คือ พวกมันจะต้องฝ่าด่านสองเฟสของความสอดคล้องของสินค้าและตลาด (product-market fit) 1) ความสอดคล้องของสินค้าและตลาดระหว่างแพลตฟอร์มและนักพัฒนา/ผู้ประกอบการ ผู้ที่จะทำให้แพลตฟอร์มเสร็จและสร้างระบบนิเวศต่อยอดออกไป และ 2) ความสอดคล้องของสินค้าและตลาดระหว่างแพลตฟอร์ม/ระบบนิเวศ และผู้ใช้ที่อยู่สุดสายของปลายน้ำ กระบวนการสองขยักนี้คือสิ่งที่ให้คนหลายๆ คน รวมไปถึงนักเทคโนโลยีผู้เจนจัด มักจะประเมินศักยภาพของแพลตฟอร์มกระจายศูนย์ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็นอยู่ร่ำไป

ยุคต่อไปของอินเตอร์เน็ต

เครือข่ายกระจายศูนย์ไม่ใช่กระสุนเงินแสนวิเศษที่จะมาทะลวงทุกปัญหาซึ่งเกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ต แต่กระนั้น พวกมันก็ยังมอบแนวทางดำเนินการที่ดีกว่าระบบรวมศูนย์เป็นอย่างมาก

มาลองเปรียบเทียบปัญหาสแปมของทวิตเตอร์และปัญหาสแปมของอีเมล นับตั้งแต่ทวิตเตอร์ได้ปิดการเข้าถึงเครือค่ายของตนต่อนักพัฒนาบุคคลที่สาม บริษัทเดียวที่แก้ไขปัญหาสแปมบนทวิตเตอร์ก็คือตัวทวิตเตอร์เอง ในทางกลับกัน มีหลายร้อยบริษัทที่เคยพยายามต่อสู้กับสแปมบนอีเมล โดยได้รับเงินทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital) และทุนจากบริษัทต่างๆ แม้ว่าสแปมบนอีเมลจะเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นมากแล้วในปัจจุบัน เนื่องด้วยบรรดาบุคคลที่สามในตอนนั้นทราบกันดีว่าโพรโตคอลอีเมลเป็นสิ่งที่กระจายศูนย์ ดังนั้นพวกเขาสามารถสร้างธุรกิจบนมันได้โดยปราศจากความกังวลว่ากฎแห่งเกมจะถูกเปลี่ยนในภายภาคหน้า

หรือลองพิจารณาปัญหาของการปกครองเครือข่าย ในปัจจุบัน กลุ่มลูกจ้างของแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ เป็นผู้ตัดสินใจว่าข้อมูลจะถูกจัดอันดับและคัดกรองอย่างไร ผู้ใช้งานคนไหนจะได้รับการโปรโมตและใครคือคนที่จะถูกแบน และรวมไปถึงการตัดสินใจสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองเรื่องอื่นๆ ด้วย ในเครือข่ายคริปโต การตัดสินใจเหล่านี้จะถูกทำโดยชุมชนผ่านกลไกที่เปิดกว้างและโปร่งใส และอย่างที่เรารู้กันจากโลกออฟไลน์แล้ว ระบบประชาธิปไตยไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่พวกมันก็ยังดีกว่าตัวเลือกที่เหลือเป็นอย่างมาก

แพลตฟอร์มรวมศูนย์รับบทเป็นตัวละครเอกมาช้านาน จนใครหลายคนอาจจะลืมไปว่ามันยังมีวิธีในการสร้างบริการบนอินเตอร์เน็ตที่ดีกว่า เครือข่ายคริปโตเป็นวิธีการอันทรงพลังในการสร้างเครือข่ายที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และทำให้เกิดสถานการณ์ที่การแข่งขันอันเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับทั้งนักพัฒนาบุคคลที่สาม ครีเอเตอร์ และธุรกิจ เราได้เห็นคุณค่าของระบบกระจายศูนย์ในยุคแรกของอินเตอร์เน็ต และหวังว่าเราจะได้เห็นมันอีกครั้งในยุคต่อไป

ขอขอบคุณ อลิ ยาห์ยา (Ali Yahya) และ เจสซี วอลเดน (Jesse Walden)


เกี่ยวกับผู้เขียน
คริส ดิกซ์สัน (Chris Dixon) คือ General Partner ของ a16z (Andreesen & Horowitz) บริษัท Venture Capital ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ Web 3.0 มากที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก ดิกซ์สันนับได้ว่าเป็นเจ้าพ่อแห่ง Mental Model หรือโมเดลทางความคิดของโลก Web 3.0 โดยย่อยความสลับซับซ้อนและความโกลาหลภายในโลกของ Web 3.0 มาในรูปแบบของโมเดลทางความคิดที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปใช้เป็นไกด์นำทางเพื่อทำความเข้าใจโลกที่เคลื่อนที่เร็วราวกับติดจรวดเช่นนี้

อ่านงานเขียนอื่นๆ ของคริส ดิกซ์สันได้ที่นี่
อ่านโน้ตพอดแคสท์รายการ Bankless ตอน Reinventing the Internet โดยมาร์ค แอนดรีสเซน (Marc Andreesen) และคริส ดิกซ์สัน ได้ที่นี่


อ่าน #ReadingCrypto EP.01 - The Meaning of Decentralization โดย วิทาลิก บิวเทอริน (Vitalik Buterin) ภาคภาษาไทยได้ที่นี่ 👇


[Disclaimer: The copyright rightfully remains with the writer. I translated this article with an intention of distributing knowledge to the wider crypto community in Thailand; as a part of my own crusade for democratising Web3 and open internet knowledge, which I just embarked recently. If you have any concerns or questions, please kindly DM me via Twitter.]

[Disclaimer: ลิขสิทธิ์เนื้อหายังคงอยู่กับตัวผู้เขียนเราแปลบทความนี้ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคริปโต, Web3 และ Open Internet ไปสู่วงกว้างมากขึ้น ถ้ามีคำถามหรือข้อกังวล ติดต่อเราผ่าน DM ได้บน Twitter ค่ะ เนื้อหาแปลภาษาไทยไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อการค้า]

Subscribe to Nucha Nucha
Receive the latest updates directly to your inbox.
Verification
This entry has been permanently stored onchain and signed by its creator.